ปัจจุบันถุงมือนั้นมีหลากหลายประเภท โดยแบ่งออกตามกลุ่มการใช้งาน เช่น ถุงมือกันสารเคมี ถุงมือตรวจโรคตลอดจนถุงมือที่ใช้ในกระบวนการผลิตและอื่น ๆ แต่หากเราพูดถึงถุงมือที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเราจะต้องเน้นถุงมือยางธรรมชาติ หรือถุงมือยางสังเคราะห์ชนิดบาง ยกเว้นในกรณีที่จะต้องใช้ถุงมือหนาๆ ในการผสมหรือตวงสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง เช่น Concentrate Alkaline หรือ Concentrate Acid
ชนิดถุงมือยางแบบบาง
ถุงมือยางธรรมชาติชนิดบาง หรือบางครั้งเรียก Boxed Glove หรือ Examination Glove มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ถุงมือแบบมีแป้ง (Powder Glove) และถุงมือแบบไร้แป้ง (Powder Free Glove) สามารถแยกความแตกต่างได้โดยดูจากคราบแป้งบนฝ่ามือหลังจากสวมใส่ แต่ถ้าหากจำแนกตามหลักเกณฑ์จะต้องมีการตรวจวัดค่าแป้ง (Powder Content)
ถุงมือยางสังเคราะห์ชนิดบาง มีชนิดเดียว คือ ถุงมือแบบไร้แป้ง แต่จะแบ่งออกเป็น 2 กระบวนการผลิต คือ แบบ Coating กับแบบ Chlorination สามารถสังเกตได้จากความลื่นหรือคราบขาวหลังดึงยืด
เราพอจะทราบรายละเอียดคร่าวๆ แล้ว มาเจาะลึกกันว่าจำเป็นแค่ไหนสำหรับห้องปฏิบัติการ ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นข้อมูลก่อนว่าห้องปฏิบัติการหมายรวมทั้งทางเคมีและทางชีววิทยา ในช่วงที่เราเรียนหรือใช้ในห้องปฏิบัติการ คุ้นเคยแค่ไหนว่าเรามีการสวมใส่ถุงมือทุกครั้ง แน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีการสวมใส่ถุงมือในห้องปฏิบัติการหรือหากมีการใช้อาจจะใช้แค่แลปที่ใช้สารเคมีอันตรายมาก ๆ
สาเหตุที่ไม่ใช้ถุงมือ
การไม่ใช้ถุงมือเนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องงบประมาณในการซื้ออุปกรณ์ชนิดนี้ หรือความสิ้นเปลือง เพราะใช้งานแล้วทิ้งไป แต่ปัจจุบันผู้ผลิตถุงมือนั้นได้ผลิตถุงมือออกมาหลากหลายแบบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน ตัวอย่าง เช่น ถุงมือ NBR หรือถุงมือยางสังเคราะห์ที่ทนต่อสารเคมีได้ เพื่อนำมาทดแทนถุงมือยางธรรมชาติที่ทนได้น้อยกว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้บางส่วน บางโรงงานหรือบางห้องปฏิบัติการอาจจะมีการล้างทำความสะอาดและนำไปใช้ซ้ำได้
อีกหนึ่งสาเหตุที่ไม่ใช้ถุงมือในการทำงานในห้องปฏิบัติการ คือ ความสะดวกในการทำงาน หลายคนมองว่าสวมถุงมือแล้วหยิบจับไม่ถนัด หรือบางคนสวมถุงมือหยิบจับเครื่องแก้วอาจจะทำให้ร่วงได้ ปัจจัยที่กล่าวมานี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เลือกถุงมือที่มีขนาดที่เหมาะสมกับขนาดมือผู้ใช้งาน ในการเลือกซื้อต้องดูวัตถุประสงค์ประกอบด้วย หากใช้หยิบจับสิ่งของขนาดเล็กหรือลื่นง่าย อาจจะต้องเลือกถุงมือที่มีผิวขรุขระบริเวณปลายนิ้ว หรือเรียกว่า Rough Texture จะช่วยป้องกันเรื่องดังกล่าวได้
ถุงมือบางชนิดได้มีการระบุ มีเครื่องหมาย เรียกว่า Chemical Protection บ่งบอกว่าสามารถป้องกันสารเคมีที่อาจจะสัมผัส หรือซึมเข้าสู่ร่างกายได้นั่นเองอย่างชัดเจน หากเรามองย้อนกลับไปว่า ในการใช้งานห้องปฏิบัติการทุกครั้งจะต้องมีการสัมผัสสารเคมีไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการสะสมและเป็นอันตรายในระยะยาวได้
ถึงเวลาแล้วที่เราควรมีการตระหนักถึงการสวมถุงมือเพื่อป้องกันอันตรายจากการทำแลป และควรปลูกฝังให้มีการใช้งานก่อนทำแลปทุกครั้ง เพราะหลังจากที่จบการศึกษามาแล้วนั้น ทุกคนจะต้องเข้าสู่การทำงานที่ในสายงานที่ตนเองเรียนจบมา นั่นหมายถึงหากเราทำงานในโรงงาน หรือทำงานในห้องห้องปฏิบัติการ หากเราไม่ชินหรือเมินเฉยในการสวมถุงมือ หรือไม่ถนัดในการใช้ถุงมือในห้องปฏิบัติการ ผลที่จะตามมาก็คือ อันตรายนั่นเอง